อธิบดีกรมการค้าภายใน ลงพื้นที่สุราษฎร์ธานีแก้ปัญหาราคาปาล์ม ย้ำเกษตรกรต้องตัดปาล์มสุก เพื่อลดปัญหากระจุกตัวหน้าโรงงาน เคาะ! โรงสกัดฯ ยืนราคารับซื้อไม่ต่ำกว่า 5 บาท/กก.
.
.
(วันนี้) 28 เมษายน 2568 ณ ห้องนางยวน ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี นางโสภา กาญจนะ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมด้วย นายวุฒิ ศรีโพธิ์ชัย เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี ร่วมประชุม #แก้ไขปัญหาราคาปาล์มน้ำมัน พร้อมหาแนวทางขับเคลื่อนและพัฒนาปาล์มน้ำมันจังหวัดสุราษฎร์ธานีไปสู่ oil palm city
ทั้งนี้ นายวิทยากร มณีเนตร อธิบดีกรมการค้าภายใน ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การรับซื้อและแก้ปัญหาราคาปาล์มตกต่ำ ณ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ร่วมกับนายธีรุตม์ ศุภวิบูลย์ผล ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมด้วย ผู้แทนเกษตรกร ดร.วันสาด ศรีสุวรรณ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัด นายไกรวุฒิ ศิริอนันตภัทร์ สมาคมโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม และคณะ จ.สุราษฎร์ธานี กระบี่ และตรัง รวม 12 ราย ตลอดจน ผู้ที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชน เข้าร่วม
โดยได้กำหนดแนวทาง 4 มาตรการ #ช่วยเหลือแก้ไขปัญหาราคาปาล์มน้ำมัน ดังนี้
1. การบริหารการจัดคิว โรงงานสกัดฯ จัดช่องทางพิเศษสำหรับเกษตรกรรายย่อยเพื่อนำผลปาล์มมาจำหน่ายได้โดยตรงทุกวัน ในส่วนของลานเทต้องมีการบริหารจัดการปริมาณให้สอดคล้องกับกำลังการผลิตของโรงสกัดฯ ในแต่ละวัน เช่น กำหนดจำนวนการรับซื้อต่อลานต่อวัน โดยต้องรายงานปริมาณที่จะเข้าโรงสกัดในแต่ละวันให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัด ทราบ
2. การรับซื้อปาล์มน้ำมัน กรมการค้าภายในขอความร่วมมือโรงสกัดน้ำมันปาล์มให้รับซื้อผลปาล์มให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยเริ่มรับซื้อตั้งแต่ 2 พฤษภาคม 2568 ในระยะเวลา 2 เดือน (พ.ค.-มิ.ย.68) ในราคา 5 บาท/กิโลกรัม โดยจะมีประกาศราคาทุก 10 วัน ทั้งนี้ จะพิจารณาสถานการณ์รอบด้านประกอบการกำหนดราคารับซื้อด้วย เพื่อสร้างความมั่นใจให้เกษตรกรไม่ต้องเร่งตัดปาล์มที่ยังไม่สุก โดยให้มีคณะทำงานติดตามการรับซื้อ มีการประชุมติดตามสถานการณ์และราคาร่วมกับจังหวัดทุก 7 วัน ร่วมกับโรงสกัด เพื่อกำกับ ติดตาม และปรับราคาให้เหมาะสมกับช่วงเวลา
3. การสื่อสารประชาสัมพันธ์โดยการรับซื้อตามเงื่อนไขต่างๆ ขอให้ผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่และผู้ประกอบการ ให้มีการสื่อสารประชาสัมพันธ์กับเกษตรกรให้รับทราบทุกขั้นตอน โดยสร้างความเชื่อมั่นและชี้แจงให้เกษตรกรได้รับทราบข้อมูลที่ตรงกัน เพื่อให้เกษตรกรวางแผนการตัดปาล์ม โดยชะลอไม่ให้เร่งการตัดปาล์มไม่สุกมาจำหน่าย จะส่งผลให้เปอร์เซ็นต์น้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้นและเกษตรกรจะได้รับราคาที่สูงขึ้น
4. ใช้มาตรการติดตามคุมเข้มการขนย้ายและกำกับการรับซื้อโดยบังคับใช้กฎหมายของกรมการค้าภายใน โดยร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) และกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ลงพื้นที่ตรวจสอบการซื้อขายผลปาล์มน้ำมันในพื้นที่จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ และตรัง
.
.
ภาพ/ข่าว : นภารัตน์
#ฝ่ายประชาสัมพันธ์
#กองยุทธศาสตร์และงบประมาณ
#องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี